การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาในอนาคต

เนื่องจากเทคโนโลยีก้าวหน้ามากการผลิตคอมพิวเตอร์จะมีการ พัฒนามากขึ้น คอมพิวเตอร์สามารถพูดได้ และสามารถที่จะเพิ่มปฎิสัมพันธ์กับนักเรียนทั้งเป็นรายบุคคลและกลุ่มนอกจากนี้คอมพิวเตอร์ที่จะทำงานเกี่ยวกับการคิดอย่างมีเหตุผล ช่วยในการตัดสินใจแก้ปัญหาซึ่งเรียกว่าเชาว์ปัญญาประดิษฐ์ ( Artificial Intelligence ) ฉะนั้น การใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือของการคิด (Cognitive Tool) ก็จะมีบทบาทสำคัญในการเรียนการสอนมากขึ้น การใช้เชาว์ปัญญาประดิษฐ์ (Al) ช่วยในการสอน เรียกว่า CAI หรือ ICAI ตัวอย่างการใช้ ICAI ในการสอนวินิจฉัยโรคติดต่อ และการรักษาของมหาลัยแสตนฟอร์ด ที่เรียกว่า “MYCIN” (Clancey, 1982) เป็นโปรแกรมที่ สร้างชึ้นจากข้อมูลที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคติดต่อ คอมพิวเตอร์และแพทย์ที่ใช้ MYCIN จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยใช้ภาษาอังกฤษ

สรุปแล้วคอมพิวเตอร์เป็นเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่อการศึกษามาก นักศึกษาทั่วโลกก็ได้ยอมรับว่า การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการเรียนการสอนเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ควรจะได้รับการสนับสนุน จึงมีการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับบทบาทของคอมพิวเตอร์ในการศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศบุลกาเรีย ในปี ค.ศ 1985 มีผู้แทนจากประเทศต่างๆทั่วโลก 40 ประเทศ รวมทั้งผู้แทนองค์การโลก เช่น UNESCO และUNICEF เข้าร่วมประชุม ผู้ที่ได้รับเชิญให้เป็นองค์ปาฐกทุกคนได้เน้นถึงความสำคัญและอิทธิผลของคอมพิวเตอร์ว่าการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการเรียนการสอนในอนาคตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าประเทศที่กำลังพัฒนา ผู้แทนจากประเทศสหรัฐอเมริกาถึงกับทำนายว่าการใช้คอมพิวเตอร์ในอนาคตจะแทนระบบการศึกษาในโรงเรียน ( Sendov and Stanchew, 1986)

ในปี ค.ศ. 1986 ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ได้มีการประชุมอภิปรายโดยผู้เชี่ยวชาญ 14 ท่าน มาร่วมอภิปรายเรื่อง Technology in Education : Looking To ward 2020 (Nickerson & Zodiater, 1988) ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าประชุมแต่ละท่านก็มีความเห็นว่า อิทธิพลของคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทุกวิชา ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี รวมทั้งการสอนวิชาชีพต่างๆ การสอนคอมพิวเตอร์จึงควรเริ่มต้นตั้งแต่เด็ก ๆ เพื่อนักเรียนจะได้ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือสำหรับการค้นคว้าหาความรู้ ข้อมูลข่างสาร และการทำงานเหมือนกับการใช้สิ่งพิมพ์หนังสือเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ ผู้เขียนเองเชื่อว่า คำทำนายของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว คงจะเป็นความเป็นจริงในอนาคต ฉะนั้นการเตรียมตัว นักการศึกษา ครู และผู้มีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการเรียนการสอนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และรู้จักใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการสอนจึงเป็น สิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

( สุรางค์ โค้วตระกูล 2541, 362 – 363 )